พระเครื่องเนื้อดินกรุต่างๆ


พระเครื่องเนื้อดินเป็นพระเครื่องที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด โดยการนำดินอันเป็นวัสดุหาง่าย คงทน สร้างสรรค์ปฏิมากรรมได้สะดวก ซึ่งดินที่นำมาสร้างพระเครื่องล้วนเป็นดินที่นำมาจากศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่เป็นมงคล มีการทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นมงคลแก่พระเครื่องที่สร้าง ในการสร้างจะนำมวลสารต่างๆ มาผสมคลุกเคล้ากัน โดยมีดินเป็นมวลสารหลักในการยึดประสานมวลสารต่างๆ ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำส่วนผสมไปกดลงในแม่พิมพ์ที่แกะเค้าโครงรูปร่างของพระเครื่องที่ต้องการ เมื่อนำพระออกจากพิมพ์แล้ว จึงนำพระมาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท

1. พระที่ผ่านการเผา เป็นการสลายความชื้นและคงรูปวัตถุ ทำให้เกิดมวลสารของพระเครื่องเป็นแบบดินสุกหรือดินสีหม้อใหม่ เช่นเดียวกับการทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่า พระเครื่องที่ผ่านการเผามี 2 ลักษณะคือ

    • พระที่ผ่านการเผาเป็นเวลานาน ในอุณหภูมิความร้อนที่สูงจนครบขั้นตอน ได้แก่ พระรอด พระนางพญา พระกรุทุ่งเศรษฐี พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นต้น
    • พระที่ผ่านการเผาพอประมาณ ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่นานนัก หรือผ่านการอบให้แห้ง โดยมวลสารคายความชื้นออก เพื่อความยึดติดเข้ารูป เป็นเหตุให้พระออกมามีหลายสี แต่คงไว้ซึ่งมวลสารส่วนผสมปรากฏเห็นชัดเจนกว่าพระที่ผ่านการเผาครบขบวนการทำให้มวลสารบางชนิดถูกเผาไหม้ไป ได้แก่ พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอดำ เป็นต้น

2. พระที่ผ่านการตากแดด พระประเภทนี้เรียกว่า “พระดินดิบ” หมายถึงมวลสารถูกแยกน้ำออกด้วยวิธีการตากแดดให้แห้ง ความแข็งแกร่งคงทนจะน้อยกว่าพระที่ผ่านการเผา ดินจะสามารถละลายตัวหากนำมาแช่น้ำทิ้งไว้ พระเนื้อดินดิบ ได้แก่ พระเครื่องศิลปะศรีวิชัยที่พบทางใต้ เช่น พระเม็ดกระดุม เป็นต้น