พระเครื่องเนื้อชิน-สนิมแดง


พระเครื่องเนื้อชินเป็นพระเครื่องเนื้อโลหะประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานของแร่หลัก 2 ชนิด คือ ดีบุกและตะกั่ว เกิดเป็นโลหะเจือชนิดใหม่ ที่เรียกว่า “เนื้อชิน” ที่สำคัญคือการแกะแม่พิมพ์พระเครื่องที่พบส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะสกุลช่างหลวง ในสมัยโบราณกรรมวิธีนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการและอาศัยแรงคนจัดทำมิใช่น้อย ดังนั้นผู้ที่สามารถสร้างพระเครื่องเนื้อชินได้จะต้องดำรงตำแหน่งอยู่ในชั้นเจ้านายหรือระดับผู้นำ จึงถือว่าพระเครื่องเนื้อชินเป็นพระเครื่องชั้นสูงมาแต่โบราณ การพบพระเนื้อชินส่วนมากจะพบในกรุตามโบราณสถานสำคัญ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่สามัญชนจะกระทำได้ พระเครื่องเนื้อชินมี 3 ประเภท คือ

1. พระเครื่องเนื้อชินเงิน คือ พระเครื่องที่มีส่วนผสมของดีบุกมากกว่าตะกั่ว พระเครื่องที่พบจะมีสีเงินยวง พระเครื่องเนื้อชินเงินนี้จะปรากฏลักษณะตามธรรมชาติในรูปของเกล็ดกระดี่ และสนิมตีนกา ตามองค์พระ เช่น พระหูยาน ลพบุรี, พระนาคปรก กรุวัดปืน ลพบุรี เป็นต้น

2. พระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง คือ พระเครื่องที่มีส่วนผสมของตะกั่วมาก พระที่พบจะมีลักษณะคล้ายพระชินเงิน แต่มีสนิมไขแซมตามซอกพระ เช่น พระมเหศวร, พระสุพรรณหลังผาน, พระลีลากำแพงขาว เป็นต้น

3. พระเครื่องเนื้อสนิมแดงตะกั่ว ถือเป็นพระเครื่องประเภทเนื้อชิน ที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากที่สุดถึง 90% พระเครื่องที่พบจึงมีสีแดงของสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็นสีแดง ที่เรียกว่า “แดงลูกหว้า” ตัวอย่างเช่น พระร่วงหลังลายผ้า, พระร่วงหลังรางปืน พระท่ากระดาน และพระร่วงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น